การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
กรุงเทพมหานคร
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เช่นการเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การต้อนรับทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ และประกอบในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เส้นทางขบวนจากท่าวาสุกรีถึงท่าราชวรดิษฐ์ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ (แต่เป็นครั้งแรก) ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๗ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ปรากฏสู่สายตาโลก ที่ประเทศไทยได้แสดงถึงขบวนเรือประวัติศาสตร์ของไทยที่งดงาม ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งศาสตร์และศิลป์คู่แผ่นดินไทย และเป็นหนึ่งเดียวในโลก
การจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธี จํานวน ๕๒ ลํา แบ่งออกเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย ความยาว ๑,๒๐๐ เมตร กว้าง ๙๐ เมตร ดังนี้
- ริ้วสายกลางซึ่งเป็นเรือสายสำคัญประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง ๓ ลำมีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นอกจากนี้มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก เรือแตงโมซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือเป็นเรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอกและเรือตำรวจ
- ริ้วสายในขนาบข้างสายเรือพระที่นั่งมีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ ๘ ลำ และปิดท้ายริ้วสายในด้วย เรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทองซึ่งเป็นเรือคู่ชัก
- ริ้วสายนอกประกอบด้วยเรือดั้งและเรือแซง สายละ ๑๔ ลำ
ดาวล้อมเดือน
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของเรือพระราชพิธีที่เข้าร่วมในริ้วพยุหยาตรา (ใหญ่) ทางชลมารค ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นรูปแบบดาวล้อมเดือน เพื่อให้รูปขบวนมีสัดส่วนที่เหมาะสม และเรือพระที่นั่งมีความสง่างามไม่รั้งท้ายขบวน เนื่องจากไม่มีขบวนเรือของพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จเป็นขบวนหลังเหมือนในอดีต ผังของขบวนเรือพระราชพิธีมีลักษณะดุจดาวล้อมเดือน คือ มีเรือพระที่นั่งเป็นเดือน เรืออื่นในขบวนหน้า ในขบวนแซง และในขบวนหลัง เป็นดาวล้อมอยู่ทุกด้าน ซึ่งการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคปัจจุบัน ได้นำแนวพระดำริดังกล่าวมาปฏิบัติ เพื่อให้เรือพระที่นั่งมีความสง่างามสมพระเกียรติ
เส้นทางเสด็จพระราชดําเนิน เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ เส้นทางขบวนเรือเริ่มต้นจากท่าวาสุกรี โดยจะมีการจอดเรือตั้งแต่หน้าสะพานกรุงธน ไปถึงหลังสะพานพระราม ๘ เรือจะเริ่มออกจากสะพานพระราม ๘ ผ่านป้อมพระสุเมรุ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุมกองทัพเรือ และถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร