คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

เรือพระที่นั่งและเรือขบวน (๑)

เรือพระที่นั่งและเรือขบวน (๑)

          เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ เรือที่จะใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเสียหายไปเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถที่จะจัดเป็นขบวนพยุหยาตราได้
ถึงสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์ที่จะทรงรื้อฟื้นและรักษาแบบแผนขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไว้เช่นในสมัยอยุธยา
จึงโปรดให้สร้างเรือพระที่นั่งและเรือขบวนสำหรับจัดเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคทดแทนของเดิมที่เสียหายไป
จนสามารถจัดเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้สมตามพระราชประสงค์
ดังมีความปรากฏใน “หมายรับสั่งสมัยกรุงธนบุรี เรื่องโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ [กฺรม-มะ-ขุน-อิน-ทฺระ-พิ-ทัก]
เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตที่ท่าเจ้าสนุกเมืองสระบุรี” ที่มีการกล่าวถึงการจัดเรือพระที่นั่งเรือโขมดยา [ขะ-โหฺมด-ยา] และเรือศีรษะนก
ไปรับพระแก้วมรกตและพระบาง โดยจัดเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบด้วย เรือแห่หน้า เรือคู่ชัก
เรือพระที่นั่งทรง และเรือแห่หลัง รวมเป็นเรือทั้งหมด ๒๔๖ ลำ
เป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งยิ่งใหญ่ในสมัยธนบุรี
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 2,187 ครั้ง