ข่าวเด่น 

รัฐบาลแถลงความคืบหน้าการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทุกภาคส่วนร่วมมือให้พระราชพิธีสมบูรณ์สมพระเกียรติที่สุด

 
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น. ที่กรมประชาสัมพันธ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดพิธีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
กล่าวถึงความคืบหน้าของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งรัฐบาลได้มีการดำเนินการไปแล้ว โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานที่ปรึกษา
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการจัดการฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความพร้อมในพิธีที่สำคัญยิ่งใหญ่ในปีนี้ 
การจัดงานพระราชพิธีในครั้งนี้ รัฐบาลยึดตามพระแนวพระราชกระแสรับสั่งให้จัดงาน
พระราชพิธีเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ซึ่งพระราชพิธีได้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ พิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย
 
พิธีเบื้องต้น จะเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ได้แก่ การเตรียมน้ำอภิเษกที่จะนำมาใช้ในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก และการเตรียมน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาเป็นน้ำอภิเษก
ซึ่งในพระราชพิธีครั้งนี้จะใช้น้ำจากแม่น้ำ 5 สายสำคัญของไทย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี เรียกว่า เบญจสุทธคงคา
และน้ำจากสระ 4 สระในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคา และสระยมนา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับการสรงพระมุรธาภิเษกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
รวมกับน้ำจาก 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ จำนวน 108 แหล่ง
ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดจุดและพิธีในการในการนำน้ำขึ้นมา โดยจะมีพิธีพลีกรรมตักน้ำพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด ในวันที่ 6 เมษายนศกนี้
และทำพิธีเสกน้ำอภิเษกตามอารามที่สำคัญของแต่ละจังหวัด ในวันที่ 8 – 9 เมษายนศกนี้ หลังจากนั้นเชิญน้ำต่างๆ มาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย
และอัญเชิญจากกระทรวงมหาดไทยไปเสกน้ำอภิเษกรวม ที่วัดสุทัศนเทพวราราม
นอกจากนี้ ในพิธีเบื้องต้นยังมีการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ แกะพระราชลัญจกร ซึ่งจะทำให้เราจะทราบพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 10
 
พิธีเบื้องกลาง เป็นวันพระราชพิธี ระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม โดยเฉพาะวันที่ 4 พฤษภาคมจะเป็นวันสำคัญที่สุด
โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเข้าพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักพรรดิพิมาน
ซึ่งการสรงพระมุรธาภิเษก หมายถึง การยกให้ หรือ การแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น
จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ภายในมณฑปกระยาสนานทรงเศวตพัสตร์ขลิบทอง
หลังจากนี้พระองค์จะทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ฉลองพระองค์ครุยเต็มยศ นพรัตน์สายสร้อย จุลจอมเกล้า เสด็จขึ้นสถิตเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับน้ำอภิเษกเสร็จแล้ว
เสด็จไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง
ในพระราชพิธีครั้งนี้มีพระที่นั่งที่เกี่ยวข้อง 3 พระที่นั่ง คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานใช้เป็นที่นอนของพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาล เรียกพิธีนี้ว่าเฉลิมพระราชมณเฑียร
ถัดมาพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นพระที่นั่งสำหรับรับการถวายน้ำอภิเษกทั้ง 108 แห่ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ
และสุดท้ายพระที่นั่งภัทรบิฐทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เช่น พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พระวาลวิชนี ฉลองพระบาท เป็นต้น
หลังจากพิธีแล้วเราจะใช้คำว่า ขอเดชะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราโชวาท อย่างสมบูรณ์วันต่อมามีพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
ซึ่งได้มีการเตรียมการและซ้อมแล้ว วันที่ 6 พฤษภาคม เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทให้ประชาชนเฝ้ารับเสด็จและถวายพระพรชัยมงคล
 
พิธีเบื้องปลาย จะเป็นพิธีหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเสด็จราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายพระกฐิน
จากท่าเรือวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวราราม ระยะทาง 4 กิโลเมตร ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมและซ้อมของฝีพาย จำนวน 2,300 นายแล้ว
 
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะจัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกออกจำหน่ายให้แก่ประชาชน
ในกลางเดือนเมษายนนี้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
 
กทม.เร่งปรับภูมิทัศน์
 
พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง การเตรียมงานด้านการปรับภูมิทัศน์กรุงเทพมหานคร
เพื่อเตรียมการเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามภารกิจที่มอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบที่เกี่ยวกับงานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ได้แก่ การปรับภูมิทัศน์เพื่อเตรียมการเฝ้ารับเสด็จ และภารกิจอื่น ๆ ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านปรับปรุงภูมิทัศน์ อาคาร สถานที่ และถนน
ด้านการบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเสด็จฯ เลียบพระนคร
ด้านการรักษาความปลอดภัยและการจัดการจราจร และด้านการสนับสนุนการดำเนินงาน สำหรับในส่วนของการปรับปรุงภูมิทัศน์กรุงเทพมหานคร
เพื่อเตรียมการเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ไปแล้ว ดังนี้
 
1. การปรับปรุงซ่อมแซมผิวจราจร ทางเท้า  คันหิน คอกต้นไม้ ไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบการระบายน้ำ ฝาท่อระบายน้ำ ป้ายต่าง ๆ ศาลาที่พักผู้โดยสาร การทาสีตีเส้นเครื่องหมายจราจร
ในพื้นที่การจัดงานพระราชพิธีฯ ให้เรียบร้อยสวยงาม จำนวนกว่า 20 เส้นทาง ขณะนี้มีความก้าวหน้าแล้วประมาณ 75 %
 
2. การจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร ตลอดจนตู้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่งานพระราชพิธีฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง
สำนักงาน กสทช. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ขณะนี้มีความก้าวหน้าประมาณ 50 % กำหนดแล้วเสร็จ 15 มีนาคม 2562
 
3. การปรับปรุงซุ้มเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บริเวณถนนราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินกลาง และมุมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รวมทั้งสิ้น 32 ซุ้ม
และจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนกว่า 106 ซุ้ม พร้อมธงประดับเสา จำนวน 4,000 ชุด
ขณะนี้ได้จัดทำแผนการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
กรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2562
 
4. การประดับตกแต่เมือง ได้แก่ การวางต้นไม้ ดอกไม้ประดับ การตกแต่งด้วยงานดอกไม้สดและการตัดแต่งกิ่งไม้ต้นไม้
ขณะนี้ได้ดำเนินการออกแบบและจัดทำรายละเอียดการประดับไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2562
และจะดูแลให้คงสภาพไว้ จนถึงประมาณวันที่ 10 พฤษภาคม 2562
 
5. การซ่อมแซมและทาสีโบราณสถานทั้งหมดที่อยู่ในเส้นทางการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวม 12 แห่ง  ประกอบด้วย โบราณสถานประเภทกำแพงและประตูเมือง
บริเวณหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร 1 แห่ง โบราณสถานประเภทสะพาน 7 แห่ง โบราณสถานประเภทอนุสาวรีย์ 3 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2562
 
6. โครงการแต้มสีกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการที่ประสานการมีส่วนร่วมในปรับปรุงและพัฒนาเมืองจากภาคเอกชน
ทั้งโดยการสนับสนุนสีและการร่วมทาสีอาคารในถนนที่มีความเก่าแก่และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพมหานคร
ได้แก่ ถนนตะนาว ถนนสิบสามห้าง ถนนพระสุเมรุ ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และถนนเจริญกรุง
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2562 เตรียมถวาายความปลอดภัยและจุดจอดรถแก่ผู้มาร่วมพระราชพิธี
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
 
พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
กล่าวถึง การรักษาความปลอดภัยและการจราจร โดยยึดหลักการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมพระเกียรติ ดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกจราจร
ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานพระราชพิธี โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ประการ
ประการที่ 1 แผนงานถวายความปลอดภัย ขณะนี้คณะทำงานกำหนด 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ พื้นที่ส่วนใน ส่วนกลาง และส่วนนอก หรือที่เรียกว่าพื้นที่หวงห้าม พื้นที่ควบคุมและพื้นที่เฝ้าระวัง
เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย มีการกำหนดจุดคัดกรองโดยรอบพื้นที่ เพื่อรองรับประชาชนที่เข้ามาในพื้นที่ คือ พี่น้องประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯและที่อยู่ใกล้บริเวณจัดงานพระราชพิธีดังกล่าว
รวมทั้งประชาชนจากต่างจังหวัดซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะพาเข้ามาร่วมในพระราชพิธีนี้ โดยผ่านจุดคัดกรองทั้ง 6 แห่ง ก่อนเข้าร่วมพระราชพิธี
 
ประการที่ 2 คือการอำนวยการจราจร พระราชพิธีในเบื้องต้น ตั้งแต่พระราชพิธีในวันที่ 6–23 เม.ย. 2562 การอำนวยความสะดวกด้านจราจร จะดำเนินการตามปกติ  
ส่วนพระราชพิธีเบื้องกลาง จะปิดการจราจร 8 เส้นทาง ในวันที่ 2-4 พ.ค. 62 จัดเดินรถทางเดียวอีก 5 เส้นทาง
ที่ถนนราชดำเนินใน ถนนสนามไชย ถนนหน้าพระลาน ถนนหน้าพระธาตุ ถนนท้ายวัง ซอยที่เชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษม ถนนหน้าหับเผย ถนนหลักเมือง ถนนกัลยาณไมตรี ถนนสราญรมย์
ต่อจากนั้นจะมีการปิดถนนเพิ่มในวันที่ 5 พ.ค. 62 เมื่อพระราชพิธีเข้าสู่ขบวนพยุหยาตราสถลมารคจะมีการปิดการจราจรรวมทั้งสิ้น 27 เส้นทาง
กระทั่ง วันที่ 6 พ.ค. 62 ซึ่งตรงกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท มีการปิดการจราจร 17 เส้นทาง
เพื่อให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
 
สำหรับประชาชนที่จะเข้ามาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สามารถนำรถยนต์มาจอดได้รอบเมือง ได้แก่
ด้านทิศเหนือ ที่เมืองทองธานี ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ศูนย์ราชการ และสโมสรตำรวจ 
ด้านทิศใต้ บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 4 เซ็นทรัลศาลายา เซ็นทรับพระราม 2 
ด้านทิศตะวันออก บริเวณศูนย์การค้าเมกะบางนา ไบเทคบางนา 
และด้านทิศใต้ บริเวณห้างเซ็นทรัลเวสเกต
หลังจากนั้นแล้วจะมีบริการซัตเติ้ลบัสของขสมก. รับประชาชนมาส่งตามจุดต่างๆ ทั้ง 5 จุด
ได้แก่  บ้านมนังคศิลา บ้านพิษณุโลก แยกวิสุทธิกษัตริย์ ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า แยกปากคลองตลาด ก่อนเดินเท้าต่อไปยังบริเวณงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
 
เปิดศูนย์สื่อมวลชน พร้อมบริการข้อมูลข่าวสาร
 
พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการฝ่ายประชาสัมพันธ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและประธานศูนย์สื่อมวลชน
เปิดเผยถึงการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะฝ่ายเลขานุการฝ่ายประชาสัมพันธ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
โดยมีพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบข่าวสาร
และความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยผ่านการประชาสัมพันธฺผ่านเว็บไซต์ www.phralan.in.th และ facebook พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
ซึ่งได้รวบรวมมาให้ผู้สนใจและสื่อมวลชนสามารถสืบค้นข้อมูลได้
 
นอกจากนี้ นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อช่วยดำเนินงาน 4 คณะ คือ
1. คณะอนุกรรมการศูนย์สื่อมวลชน 2. คณะอนุกรรมการศูนย์ถ่ายทอดวิทยุและโทรทัศน์ 3. คณะอนุกรรมการด้านสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อ และ 4.คณะอนุกรรรมการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ
 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
 
  
 
  
 
ในวันที่ 1 มีนาคม 2562 เป็นการเปิดให้บริการศูนย์สื่อมวลชนย่อยเป็นวันแรก ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 26 เมษายน 2562
เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานสื่อมวลชน สืบค้นข้อมูล จัดทำบัตรสื่อมวลชนเพื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานผลการดำเนินในช่วงงานพระราชพิธี
จากนั้นจะย้ายไปที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน เป็นต้นไป จนเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
 
 
  

นอกจากนี้ ยังบริการจากศูนย์สื่อมวลชนเพิ่มเติม เช่น การสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร 1257 การสืบค้นข้อมูลจากเอกสารแบบรูปเล่ม หมายเลขติดต่อผู้ให้ข้อมูลของคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ
โฆษกศูนย์สื่อมวลชนที่จะให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชน บริการทำบัตรสื่อมวลชนเพื่อเข้าทำข่าวในช่วงพระราชพิธี บริการเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในรูปแบบ ฟรี Wifi
ขณะนี้มีให้บริการ จำนวน 4 ชุด และจะเพิ่มที่ศูนย์ธรรมศาสตร์ จำนวน 30 ชุด และเชื่อมโยงสัญญาณภาพถ่ายทอดสดทางจอ LED ขนาดใหญ่
พร้อมทั้งบริการบันทึกภาพนิ่งและวีดีโอ ศูนย์ถ่ายทอดวิทยุและโทรทัศน์ จะตั้งศูนย์ฯ ที่สถาบันการประชาสัมพันธ์ ภายในบริเวณกรมประชาสัมพันธ์ด้านที่ติดกับกรมสรรพากร
ซึ่งจะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1พ.ค.2562 เป็นต้นไป

สำหรับรายละเอียดในการถ่ายทอดสดครั้งนี้ซึ่งเป็นการรวมพลังการทำงานในนามโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
อยู่ระหว่างการวางแผนซึ่งคาดว่าจะให้กล้องกว่า 200 ตัว ใช้ผู้ประกาศประมาณ 25 คน
 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนการเข้าชม 12,507 ครั้ง