หมวดข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีเบื้องปลาย 

กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยรัตนโกสินทร์ (ตอนต้น)

กระบวนพยุหยาตราชลทางมารคในสมัยรัตนโกสินทร์ ระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครหลวงจากกรุงธนบุรี มาฝั่งกรุงเทพมหานคร บริเวณทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สืบจนปัจจุบัน หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ลดาวัลย์ ได้ให้อรรถาธิบายไว้ใน หนังสือเรือ “กระบวนพยุหยาตรา” ไว้ว่า 
 
 
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น แม้ว่าเรือใช้รบในแม่น้ำของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย แต่ได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อสมัยกรุงธนบุรี
เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้รบ หากว่างจากการรบก็จะจัดเป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีต่าง ๆ โดยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น
 
รัชสมัยรัชกาลที่ ๑ คือ กระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการอัญเชิญพระแก้วมรกตแห่ข้ามฟากมาประดิษฐานเหนือบุษบกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ นับเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคที่วิจิตรงดงามอย่างยิ่ง และการเสด็จไปพระราชทาน ผ้าพระกฐินทางชลมารค ณ วัดบางหว้าใหญ่ และวัดหงส์
การจัดกระบวนกฐินพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น นอกจากกระบวนหลวงซึ่งเป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างโบราณแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาราษฎร์
ยังได้ตกแต่งเรือด้วยลักษณะต่าง ๆ เช่น จระเข้ หอย ปลา รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ มาสมทบเข้ากับขบวน เป็นกระบวนนำและกระบวนหลวง เรือบางลำมีวงปี่พาทย์ และการละเล่นต่าง ๆ ภายในเรือ เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง 
 
 
สมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งเรือในกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค อย่างยิ่งใหญ่ในการเสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน โดยมีเรือพระบรมวงศานุวงศ์ และขบวนเรืออื่น ๆ ที่แต่งเป็นรูปต่าง ๆ
เข้าร่วมขบวนเช่นในรัชกาลก่อน ในรัชกาลต่อมาก็ได้จัดให้มีเช่นกัน แต่เป็นขบวนใหญ่บ้าง น้อยบ้าง เพื่อไปถวายผ้าพระกฐินในเทศกาลเข้าพรรษาสืบต่อเรื่อยมา อีกทั้งยังมีการอัญเชิญพระแก้วขาว พระแก้วประจำรัชกาลที่ ๒
หรือ “พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย” จากวัดเขียน ตลาดแก้ว แขวงเมืองนนทบุรี เข้ามาประดิษฐานบนพระแท่นทอง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการเฉลิมฉลองหลายวันหลายคืน
 
 
สมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยเรือเดินทะเลเป็นอย่างมาก และทรงทำการค้าขายกับต่างประเทศ ทำให้มีกองเรือพาณิชย์นาวีเป็นเรือกำปั่นเหมือนกับชาติตะวันตก
และเรือสำเภาใช้ใบเช่นเดียวกับประเทศจีน ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดมหกรรมฉลองวัดราชโอรส จัดให้มีโขนโรงใหญ่ติดรอกตรงหน้าพลับพลาข้าม ปลูกพลับพลาลงมาริมคลองหน้าวัด
ให้มีการแสดงหน้าพลับพลาด้วยเรือในเวลาค่ำ เวลาเย็นไปฟังสวดพระพุทธมนต์เป็นกระบวนพยุหยาตรา โดยทรงเรือพระที่นั่งชัยสุวรรณหงส์ มีเรือกระบวนรูปสัตว์ ทั้ง ๓ วัน
อีกทั้งเมื่อคราวต้นรัชกาล พระองค์ได้เสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐินวัดนอกเมืองสมุทรปราการโดยกระบวนเรือพยุหยาตรา
 
 
สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันศุกร์ที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ และยังได้โปรดให้เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค
ในวันพุธที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ในรัชกาลนี้เป็นรัชสมัยที่มีการเจริญพระราชไมตรีต่อชาติตะวันตกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา และอีกหลายประเทศ
ได้มีการนำเรือกลไฟซึ่งใช้เครื่องจักรไอน้ำแทนแรงงานคนมากขึ้น เรือรบในแม่น้ำหรือเรือพระราชพิธี เช่นครั้งอดีตจึงยุติบทบาทลง แต่ยังคงใช้เพื่อเป็นเรือพระที่นั่งขององค์ประมุขของประเทศในการเสด็จฯ
ในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินหรือพิธีต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง ซึ่งเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมอันงดงามของไทยมาจนปัจจุบัน
 
 
หมายเหตุ : ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ใช้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพีธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
หนังสือเรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค
หนังสือกระบวนพยุหยาตราประวัติและพระราชพิธี
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๑

 

จำนวนการเข้าชม 7,429 ครั้ง