ดาวน์โหลด 

สารคดีเฉลิมพระเกียรติ มรดกศิลป์ แผ่นดินไทย ตอนที่ 38 เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์

เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือประตูหน้า ประเภทเรือพิฆาต ดัดแปลงมาจากเรือรบเป็นเรือนำขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยโบราณ ไม่พบหลักฐานในการสร้าง และจำนวนที่สร้างที่ชัดเจนแต่ปรากฏชื่อ เรือทั้ง 2 ลำ
ในลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตรา ทั้งทางสถลมารค และทางชลมารคใน พ.ศ.2387 ต่อมาในรัชกาลที่ 6 เหลือเพียง 1 คู่ คือ เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธ์ โดยเรือทั้ง 2 ลำ ได้บูรณะซ่อมแซมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2524
เช่น เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลาย เป็นเรือที่ไม่ได้มีการแกะสลักลงลักปิดทอง แต่ใช้การวาดลวดลายแทน ด้านบนหัวเรือทำเป็นพนักลูกกรงไม้สำหรับวางปืนใหญ่ ที่หัวเรือเขียนชื่อเรือของเรือแต่ละลำไว้
แต่วาดลวดลายเหมือนกันคือเป็นรูปหน้าเสือ มีดวงตาขนาดใหญ่ มีคิ้ว จมูก ปาก ฟัน และเขี้ยวที่แหลมคมดูทรงพลัง มีลวดลายดอกพุดตานด้วยสีฟ้าเข้ากับตัวเรือด้านนอกที่เป็นสีเหลืองทั้งลำ ภายในทาสีแดง ท้องเรือ เขียนลวดลายเหมือนกับริ้วเสือด้วยสีดำ
ส่วนท้ายเรือเขียนเป็นลายดอกพุดตานสีฟ้าเช่นกัน สิ่งที่ทำให้เรือทั้งสองลำดูมีความน่าสนใจคือการเขียนลวดลายที่ช่างไทยใส่ไว้ทั้งการตัดเส้น และวาดลวดลายให้เสือมีหน้าตาที่ดุดัน มีพลัง แต่มีความอ่อนช้อยแบบศิลปกรรมไทยได้อย่างลงตัว
กลางลำเรือมีคฤห (ครึ) เป็นเรือนสำหรับนั่ง ตัวเรือ   มีความยาว 22.23 เมตร กว้าง 1.75 เมตร ความลึกท้องเรือ 0.70 เมตร มีกำลังพล ลำละ 34 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 1 นาย นายท้าย 2 นายฝีพาย 26 นาย พลสัญญาณ 1 นาย และคนนั่งประจำคฤห์ 3 นาย

ไฟล์แนบ
  

จำนวนการเข้าชม 1,672 ครั้ง