ดาวน์โหลด 

สารคดีเฉลิมพระเกียรติ มรดกศิลป์ แผ่นดินไทย ตอนที่ 31 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือสร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรีในลำดับชั้นรอง ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินลำลอง ภายหลังนำเข้าขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เรียกว่า เรือพระที่นั่งรอง นับเป็นเรือพระที่นั่งลำเดียวที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
เรือพระที่นั่งลำนี้มีลักษณะเด่น คือโขนเรือเชิดเรียว มาจากคำ 2 คำ คือ อเนก หมายถึง จำนวนมาก และชาติภุชงค์ หมายถึง นาค สอดคล้องกับรูปโขนเรือที่มีเป็นรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก หัวเรือลงรักปิดทองลายรดน้ำเป็นรูปพญานาคแปลง
คือมีใบหน้าเป็นมนุษย์รวม 7 หน้า ประดับกระจกสีเขียวเป็นหลักแต่ไม่ได้ลงยาสี ลักษณะเดียวกับศิลปกรรมหน้าบันพระอุโบสถต่างๆ ถัดจากหัวเรือมีเข็มขัดรัดแกะสลักเป็นลายนาคมีผ้าหน้าโขนเรือ และพู่ห้อยซ้าย-ขวา ลำเรือภายนอกทาสีชมพู
แกะสลักลวดลายเป็นนาคเรียงซ้อนกันทั้งชั้นบนและล่างเป็นนาคเรียงหันหน้าไปทางหัวเรือ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา ซึ่งเป็นที่ประทับเปลื้องเครื่องหรือเปลื้องพระชฎามหากฐินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ก่อนเสด็จขึ้น หรือลงเรือพระที่นั่งอีกลำ ตัวเรือมีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร ลึก 0.91 เมตร ใช้กำลังพลรวม 82 นาย แยกเป็นกำลังพลประจำเรือ 75 นาย ประกอบด้วย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย ฝีพาย 61 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย
พลสัญญาณ 1 นาย คนถือฉัตร 7 นาย คนขานยาว 1 นาย และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง 7 นาย
โดยปกติเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราใหญ่ จะทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ และทรงพระมหามงกุฏ หรือ พระชฎามหากฐินทรงพระมาลาเส้าสูง เรือที่ใช้ทรงเปลื้องเครื่องนี้เรียกว่า เรือพลับพลา
เรือนี้จะเข้าเทียบท่าก่อนแล้วเรือพระที่นั่งลำทรง เทียบด้านนอกเรือพลับพลา เมื่อเสด็จสู่พลับพลาเปลื้องพระมหามงกุฏ หรือ พระชฎามหากฐินแล้ว จึงเสด็จขึ้น เช่นเดียวกันในการเสด็จกลับจะเสด็จลงเรือพลับพลาทรงพระมหามงกุฏ
หรือพระชฎามหากฐินก่อน แล้วจึงเสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง

ไฟล์แนบ
  

จำนวนการเข้าชม 1,222 ครั้ง